โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 , 23:34:12 (อ่าน 127 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นักศึกษา ทีม Shalloterและทีม Save คว้า 2 รางวัล รางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ การประกวดเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market : R2M) ระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 ครั้งที่ 12 โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา บุญจูง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลพร นครชัยกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจาก หน่วยพัฒนาสตาร์อัพ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 5 ทีม เข้าร่วมแข่งขัน มีตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง 20 ทีม ร่วมแข่งขัน จัดโดย ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ณ ห้องประชุมสันตรัตน์ โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
โครงการ เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 12 กิจกรรมคัดเลือกงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพด้านการตลาด มาศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ โดยแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ เพื่อต่อยอดผลงานวิจัย ผลักดันให้เกิดการสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุน สร้างโอกาสการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่นิสิตนักศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 เครือข่ายมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คัดเลือกตัวแทนมหาวิทยาลัย จำนวน 5 ทีม รวม 20 ทีม เข้าแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจ คัดเลือกตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ทีม ไปแข่งขันในระดับประเทศ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
ในส่วนของทีมนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถคว้า 2 รางวัล ในโครงการประกวดเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market : R2M) ครั้งที่ 12 พร้อมเป็นตัวแทนของภาค แข่งขันระดับประเทศ ผลรางวัล ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Shalloter ผลงาน ผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอยและเพิ่มความกระจ่างใสใต้วงแขนจากสารสกัดหัวหอมแดง ผลงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีวัลย์ ดวงจิตต์ ผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอยและเพิ่มความกระจ่างใสใต้วงแขนจากสารสกัดหัวหอมแดง ใช้ได้กับทุกสภาพผิวใต้วงแขน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ลดริ้วรอย การอักเสบ แลดูจางลงภายใน 7-14 วัน และลดความหมองคล้ำเพิ่มความกระจ่างใส สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวนุษรา วารินทร์ นายเกียรติศักดิ์ สุธรรมมา นายมนัสนานนท์ โสดากุล และนางสาวศิริโฉม ขันบุตรศรี
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Save ผลงาน ชุดตรวจวัดปริมาณสารกำจัดแมลงชนิดคาร์บาริลตกค้างทางสีบนอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์มาจากกระดาษเพื่อความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ผลงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.มะลิวรรณ อมตธงไชย ใช้หลักการตรวจวัดทางสี ที่อาศัยการเลียนแบบเอนไซม์เปอร์ออกซิเดส โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาประสิทธิภาพสูงอย่างอนุภาคนาโนซิลิกา-แพลตตินัมที่มีรูพรุนขนาดมีโซ ซึ่งเคลือบด้วยพอลิเมอร์ที่พิมพ์ประทับรอยโมเลกุล คุณสมบัติเด่นคือมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก ใช้งานง่าย ราคาถูก ผลิตได้หลายชิ้นต่อครั้ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นชุดตรวจที่มีความไวและความแม่นยำสูง สามารถตรวจวัดปริมาณคาร์บาริลตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็วภายใน 15 นาที ซึ่งใช้เวลาในการตรวจวัดน้อยกว่าเครื่องมือมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ตรวจวัดปริมาณคาร์บาริลและสามารถนำไปใช้ตรวจวัดได้ในสถานที่จริงได้ สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวกรณันฐ์ แสนทวีสุข นายณัฐนันท์ หัสดินรัตน์ นายวิวัฒน์ เมตมาต นางสาวสุภิดา จันทขัมมา และนางสาววรนิษฐา อินทร์ไทร
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการพัฒนาทักษะ สร้างโอกาสการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม สอดรับกับอัตลักษณ์นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “เก่งและทำเป็น สร้างสรรค์ สามัคคี สำนึกดีต่อสังคม”
ข่าว : เพลิน วิชัยวงศ์
ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง