โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 15 ธันวาคม 2567 , 21:47:49 (อ่าน 92 ครั้ง)
ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ดร.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ และ ดร.ศิริสุดา แสนอิว รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร พร้อมด้วยนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมโครงการธรรมยาตราจากลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ เพื่อสานความร่วมมือและเชื่อมโยงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม พร้อมศึกษาข้อมูลในการเตรียมความพร้อมจังหวัดอุบลราชธานีสู่เมืองกัมมัฏฐานโลก (World Meditation City) ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2567 เมืองปัฏนะ เมืองคยา รัฐพิหาร กรุงนิวเดลี ดินแดนสหภาพเดลี และเมืองอาห์เมดาบัด รัฐกุจราต สาธารณรัฐอินเดีย
โดยโครงการดังกล่าว มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การจาริกเพื่อศึกษาอารยธรรมตามเส้นทาง เส้นทางปัตนะ-พุทธคยา-นิวเดลี-กุจราต การสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงนิวเดลี การประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ บริเวณโพธิมณฑล พุทธสถานแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การบรรจุ Time Capsuleหรือ แคปซูลกาลเวลา เพื่อบันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดีย การเยือนจุดค้นพบผอบพระบรมสารีริกธาตุ ณ Devni Mori และร่วมหารือความร่วมมือทางด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างอินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับผู้นำรัฐ หน่วยงานทางการศึกษา และสถาบันคลังสมองเชิงนโยบายที่สำคัญ อาทิ ฯพณฯ ท่าน Shri Kiren Rijijuรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการรัฐสภา และ ชนกลุ่มน้อย (Hon'ble Minister of Parliamentary Affairs and Minority Affairs) ฯพณฯ ท่าน Bhupendra Patel มุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต ฯพณฯ ท่าน Rajendra Vishwanath Arlekar ผู้ว่าการรัฐพิหาร เอกอัครราชทูตภัทรัตน์ หงส์ทอง เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย Mr.Abhijit Halder เลขาธิการ International Buddhist Confederation ศาสตราจารย์ Siddharth Singh อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวนาลันทามหาวิหาร ศูนย์วิจัยเพื่อความยั่งยืนและพัฒนา รัฐกุจราต กรมการท่องเที่ยว กีฬา และเยาวชน แห่งรัฐกุจราต มหาวิทยาลัย Maharaja Sayajirao University of Baroda (MSU)ศูนย์ศิลปะแห่งชาติอินธิราคานธี (IGNCA) และพิพิธภัณฑ์พิหาร ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ดำเนินการโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980 นำโดย ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันฯ และภาคีเครือข่าย
อนึ่ง ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นศูนย์บริการทางวิชาการด้านอินเดียร่วมสมัยแห่งเดียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ภูมิปํญญาอินเดียแห่งลุ่มน้ำโขง และได้รับการอนุมัติให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent Center) ภายใต้แผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีระยะ 5 ปี (พ.ศ.2568-2572)โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับอินเดียร่วมสมัยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา บริการวิชาการ และเผยแพร่เรื่องอินเดียแบบพหุวิทยาการ (multidiscipline)เพื่อประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายด้านอินเดียศึกษาทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพื่อบริหารจัดการศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมสนับสนุนจังหวัดอุบลราชธานี สู่การเป็นเมืองกัมมัฏฐานโลก หรือ World Meditation Cityซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางผู้แสวงหาธรรมะ ความสงบ และความงดงามในจิตใจ เป็นเมืองที่ทุกคนจะสุขด้วยสมาธิ สติ และภูมิปัญญา เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยววิถีธรรม ที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกอยากที่จะเดินทางเพื่อแสวงหาความปิติสุขและที่พักพิงทางจิตใจ ซึ่งหลักคิดดังกล่าว สะท้อนอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของจังหวัดอุบลราชธานี ดังจะเห็นได้จากแรงพลังศรัทธามหาชน ในการถวายการรับเสด็จพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้โครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ “จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง” ซึ่งมีศรัทธาพุทธบริษัทจากจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา จำนวนสูงถึง 810,374 คน แสดงให้เห็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างท่วมท้น ประกอบกับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแดนนักปราชญ์ ประชาชนใฝ่ธรรม และเป็นถิ่นกำเนิดของพระอริยสงฆ์ อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่ชา สุภัทโท มีวัดวาอารามและโบราณสถานที่สำคัญอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาซึ่งรวมความวิจิตรแห่งพุทธศิลป์และศรัทธา รวมถึงเป็นจังหวัดแห่งแสงแรกและตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทยที่ได้มีโอกาสจุดเทียนธรรมเล่มแรก จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการประกาศศตวรรษแห่งธรรม ในฐานะเมืองกัมมัฏฐานโลก (World Meditation City)เพื่อสร้างการตื่นรู้สู่การเป็นดินแดนแห่งพุทธธรรม ต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา#ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม